วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ระยะการเจริญเติบโต

ระยะตัวเต็มวัย (ตัวยุง)
1. ร่างกายอ่อนนุ่ม เปราะบาง แบ่งเป็น 3 ส่วนแยกออกจากกันเห็นได้ชัดเจนคือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง ลำตัวยาวประมาณ 4-6 มม. มีเกล็ดสีดำสลับขาวตามลำตัวรวมทั้งส่วนหัวและส่วนอกด้วย
2. มีขา 6 ขาอยู่ที่ส่วนอก ขามีสีดำสลับขาวเป็นปล้องๆ ที่ขาหลังบริเวณปลายปล้องสุดท้ายมีสีขาวตลอด
3. มีปีกที่เห็นได้ชัดเจน 2 ปีกอยู่บริเวณส่วนอก ลักษณะของปีกบางใส มีเกล็ดเล็กๆบนเส้นปีก ลักษณะของเกล็ดแคบ ยาว บนขอบหลังของปีกมีเกล็ดเล็กๆเป็นชายครุย นอกจากนี้ที่ส่วนอกยังมีอวัยวะที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวอยู่ใกล้กับปีก
4. มีปากยาวมาก ลักษณะปากเป็นแบบแทงดูด
5. เส้นหนวดประกอบด้วยปล้องสั้นๆ 14-15 ปล้อง ที่รอยต่อระหว่างปล้องมีขนขึ้นอยู่โดยรอบ ในยุงตัวผู้เส้นขนเหล่านี้ยาวมาก (ใช้รับคลื่นเสียงที่เกิดจากการขยับปีกของยุงตัวเมีย) มองดูคล้ายพู่ขนนก ส่วนในยุงตัวเมียเส้นขนที่รอยต่อระหว่างปล้องจะสั้นกว่าและมีจำนวนน้อยกว่า ลักษณะของหนวดยุงจึงใช้ในการจำแนกเพศของยุงได้ง่าย

แหล่งกำเนิด

สำหรับในเรื่องของการแพร่กระจายของยุงลายนั้น เชื่อกันว่า ยุงลายบ้านซี่งเป็นยุงที่มีแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกาได้แพร่กระจายไปยังประเทศต่าง ๆ ระหว่างเส้นรุ้งที่ 40 องศาเหนือและใต้ โดยติดไปกับพาหะที่ใช้ในการคมนาคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเรือ สำหรับประเทศไทย ไม่มีใครทราบแน่นอนว่า ยุงลายได้เข้ามาแพร่พันธุ์ตั้งแต่เมื่อใด แต่มีรายงานปรากฎในวารสารวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการพบยุงลายในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2450 โดยเข้าใจว่าในระยะต้น ๆ ยุงลายจะแพร่พันธุ์อยู่ในเฉพาะเมืองใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 พบว่า ยุงลายมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ แต่พบอยู่ทั่วไปทุกเมือง รวมทั้งในชนบทตามภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย นอกจากนี้จากการศึกษาเพิ่มเติมยังพบว่า การแพร่กระจายของยุงลายจะถูกจำกัดโดยความสูงของ พื้นที่ คือ จะไม่พบยุงลายบ้านที่ระดับความสูง 1,000 ฟุต จากระดับน้ำทะเล ต่างจากยุงลายสวน ซึ่งสามารถพบได้ทุกระดับความสูง แม้กระทั่งบนยอดเขา อย่างไรก็ตาม สาเหตุอีกประการหนึ่งที่นักวิชาการทั่วโลกเชื่อว่า เป็นสาเหตุของการแพร่พันธุ์ของยุงลาย และแมลงร้ายที่เป็นพาหะนำโรคต่าง ๆ ก็คือ สภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
ในช่วงเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมา โลกมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของอากาศอย่างชัดเจน อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นอย่างมากในปี พ.ศ. 2523-2533 เป็นช่วงที่โลกมีสภาพอากาศร้อนที่สุด ปรากฏการณ์ EI Nino ได้รับการบันทึกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2110 จนถึงปัจจุบันปรากฏการณ์นี้ได้ก่อให้เกิดภาวะแห้งแล้ง และอุณหภูมิสูงขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ภาวะแห้งแล้งนี้มีผลต่อจำนวนแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เนื่องจากยุงลายเพาะพันธุ์ในภาชนะขังน้ำ ซึ่งอยู่ในบ้านเรือนเป็นส่วนใหญ่ และในภาวะนี้จะเป็นภาวะที่ประชาชนทำการกักตุนน้ำไว้ใช้บริโภคมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจากภาวะที่โลกอบอุ่นขึ้น อันเนื่องมาจากผลของปรากฏการณ์เรือนกระจก ยังช่วยทำให้ยุงและแมลงที่จำศีลในช่วงฤดูหนาวสามารถแพร่พันธุ์ได้ในสภาพอากาศของฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นได้อีกด้วย ขึ้นชื่อว่ายุงแล้ว แม้บางพันธุ์จะไม่เป็นพาหะนำโรคแต่ก็สร้างความรำคาญใจให้แก่มนุษย์ได้ในทุกวัน เวลาและสถานที่ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอาจเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราการเพิ่มจำนวนของยุงได้

ชนิดของยุงลาย

ในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 19 สกุล รวมทั้งหมด 412 ชนิด แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ ยุงที่เป็นพาหะนำโรค และยุงที่ไม่เป็นพาหะนำโรค ยุงที่เป็นพาหะนำโรค ก็ได้แก่ ยุงลาย (Genus Aedes) เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก, ยุงรำคาญ (Genus culex) นำโรคไข้สมองอักเสบเจดี, ยุงก้นปล่อง (Genus Anopheles) นำโรคมาลาเรีย และ ยุงเสือ (Genus Manso-nia) นำโรคเท้าช้าง
ยุงลายในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 113 ชนิด แต่ที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกมีเพียง 2 ชนิดเท่านั้น คือ
- ยุงลายบ้าน
- ยุงลายสวน

ยุงลาย

ยุงลายเป็นแมลงขนาดเล็ก มีวิวัฒนาการมายาวนานถึง 200 ล้านปี เชื่อกันว่าหากนำสายพันธุ์ยุงจากทั่วโลกมารวมกันแล้ว จะได้ตัวเลขสูงนับหมื่นชนิด โดยสาเหตุที่ยุงสามารถดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบันได้ ก็เนื่องจากยุงเป็นแมลงที่มีลักษณะพิเศษหลายประการที่เอื้ออำนวยต่อการปรับตัวและการดำรงชีวิตในสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้เป็นอย่างดี อาทิ ขนาดของลำตัวที่เล็กทำให้ต้องการอาหารไม่มากนัก และไม่ต้องการที่อยู่อาศัยใหญ่โต มีปีกหลบหลีกศัตรูได้เร็วทั้งยังช่วยในการหาอาหารได้ง่ายขึ้นและไกลขึ้น