วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

แหล่งกำเนิด

สำหรับในเรื่องของการแพร่กระจายของยุงลายนั้น เชื่อกันว่า ยุงลายบ้านซี่งเป็นยุงที่มีแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกาได้แพร่กระจายไปยังประเทศต่าง ๆ ระหว่างเส้นรุ้งที่ 40 องศาเหนือและใต้ โดยติดไปกับพาหะที่ใช้ในการคมนาคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเรือ สำหรับประเทศไทย ไม่มีใครทราบแน่นอนว่า ยุงลายได้เข้ามาแพร่พันธุ์ตั้งแต่เมื่อใด แต่มีรายงานปรากฎในวารสารวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการพบยุงลายในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2450 โดยเข้าใจว่าในระยะต้น ๆ ยุงลายจะแพร่พันธุ์อยู่ในเฉพาะเมืองใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 พบว่า ยุงลายมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ แต่พบอยู่ทั่วไปทุกเมือง รวมทั้งในชนบทตามภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย นอกจากนี้จากการศึกษาเพิ่มเติมยังพบว่า การแพร่กระจายของยุงลายจะถูกจำกัดโดยความสูงของ พื้นที่ คือ จะไม่พบยุงลายบ้านที่ระดับความสูง 1,000 ฟุต จากระดับน้ำทะเล ต่างจากยุงลายสวน ซึ่งสามารถพบได้ทุกระดับความสูง แม้กระทั่งบนยอดเขา อย่างไรก็ตาม สาเหตุอีกประการหนึ่งที่นักวิชาการทั่วโลกเชื่อว่า เป็นสาเหตุของการแพร่พันธุ์ของยุงลาย และแมลงร้ายที่เป็นพาหะนำโรคต่าง ๆ ก็คือ สภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
ในช่วงเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมา โลกมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของอากาศอย่างชัดเจน อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นอย่างมากในปี พ.ศ. 2523-2533 เป็นช่วงที่โลกมีสภาพอากาศร้อนที่สุด ปรากฏการณ์ EI Nino ได้รับการบันทึกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2110 จนถึงปัจจุบันปรากฏการณ์นี้ได้ก่อให้เกิดภาวะแห้งแล้ง และอุณหภูมิสูงขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ภาวะแห้งแล้งนี้มีผลต่อจำนวนแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เนื่องจากยุงลายเพาะพันธุ์ในภาชนะขังน้ำ ซึ่งอยู่ในบ้านเรือนเป็นส่วนใหญ่ และในภาวะนี้จะเป็นภาวะที่ประชาชนทำการกักตุนน้ำไว้ใช้บริโภคมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจากภาวะที่โลกอบอุ่นขึ้น อันเนื่องมาจากผลของปรากฏการณ์เรือนกระจก ยังช่วยทำให้ยุงและแมลงที่จำศีลในช่วงฤดูหนาวสามารถแพร่พันธุ์ได้ในสภาพอากาศของฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นได้อีกด้วย ขึ้นชื่อว่ายุงแล้ว แม้บางพันธุ์จะไม่เป็นพาหะนำโรคแต่ก็สร้างความรำคาญใจให้แก่มนุษย์ได้ในทุกวัน เวลาและสถานที่ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอาจเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราการเพิ่มจำนวนของยุงได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น